คอนเทนต์

📣📣ประโยชน์จากของเหลือทิ้งในพืชตระกูลแตง🍉

      ปัจจุบันพืชตระกูลแตง เช่น แคนตาลูป เมล่อน และแตงไทย เป็นพืชที่มีความต้องการในการบริโภคสูง ทำให้เกิดเศษชิ้นส่วนเหลือทิ้งจำนวนมาก อาทิ เปลือก เมล็ด เป็นต้น ซึ่งทั้งเปลือกและเมล็ดต่างอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสารประกอบพอลิฟีนอลหรือบีตา-แคโรทีน ทำให้มีการพัฒนาวิธีการนำเอาส่วนเหลือทิ้งเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

      แคนตาลูปและเมล่อน เป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae โดยแคนตาลูป (Cantaloupe) หรือเรียกกันว่า แตงแคนตาลูป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. var. cantaloupensis แคนตาลูปมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย ลักษณะทั่วไปของแคนตาลูป คือ มีลักษณะคล้ายๆ แตงไทย มีผลกลม ผิวของผลสีเขียว หรือสีน้ำตาลคล้ำ หรือสีเหลือง หรือสีขาว ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์ ผิวของผลหยาบ มีเปลือกแข็ง มีร่องลึกรอบๆ ผล เปลือกมีลายคล้ายร่างแหหรือตาข่ายสีขาว บางพันธุ์มีผิวเรียบๆ เมื่อสุกเนื้อในมีสีส้ม หรือสีจำปา มีกลิ่นหอม รสหวาน

      เมล่อน (Melon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumismelo L. var. cantalpensis เป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ บีตาแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก เมล่อนมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ผลสุกมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน โตได้ดีในที่ที่มีสภาพอากาศร้อนแห้ง มีแดดจัดในปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยสารที่พบมากในเปลือกและเมล็ดของพืชเหล่านี้คือ กรดแกลลิก (Gallic acid) และกรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) กรดทั้งสองชนิดเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันและลดความเสียหายให้กับเซลล์ในร่างกาย ช่วยให้เซลล์ในร่างกายปรับตัวรับกับสภาวะกดดัน หรือกำจัดของเสียที่เกิดภายในเซลล์ได้ดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่สำคัญในการป้องกันโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้กรดแกลลิกยังมีคุณสมบัติช่วยต้านแบคทีเรียก่อโรคผิวหนังหรือสิวอักเสบ และยังมีคุณสมบัติการต้านการสร้างเม็ดสีผิว (Antimelanogenicacitivity) อีกทั้งสามารถยับยั้งเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น นอกจากนี้เมล่อนยังช่วยลดความดันโลหิตสูง

🙏🏻ขอบคุณข้อมูล : 

กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Share: