ข่าวสารและกิจกรรม

📣📣อว.ม.อ. ผลักดันการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย 

ร่วมจัดแสดงผลงานและกิจกรรมในงาน Healthy Living & Innovation Expo  2023👍

📌อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จัดงาน Healthy Living & Innovation Expo 2023 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม  2566 ณ Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ม.อ.  โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ จังหวัดสงขลา  หรือ SCEB  เพื่อเป็นเวทีนำเสนอสินค้า บริการ นวัตกรรม และความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ สร้างเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจด้านสุขภาพ ตลอดจนส่งเสริมต่อยอดและพัฒนางานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

📌โดยพิธีเปิดมีขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยมี รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ กล่าวต้อนรับ รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน คุณกนกพร ดำรงกุล  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดไมซ์ในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวสนับสนุนการจัดงาน นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ทรงสิน ธีระกุลพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ จังหวัดสงขลา คุณดารณี ทองประชุม ผู้อำนวยการศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และผู้บริหารหน่วยงานร่วมในพิธีภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เดินหน้าขับเคลื่อนภาคใต้สู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism)” โดย นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 และ แนะนำ “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” โดย รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมทั้งมีการจัดบูธแสดงสินค้าเพื่อสุขภาพ ผลงานนวัตกรรม การเจรจาธุรกิจ การเสวนา และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย

📌นอกจากนี้ยังมีพิธีแสดงความยินดีและขอบคุณผู้ประกอบการที่ขออนุญาตใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ.คำรณ พิทักษ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสักขีพยาน  ซึ่งผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่อนุญาตใช้สิทธิ ประกอบด้วย 6 ผลงาน ประกอบด้วย

1. “ระบบนำส่งยาชนิดก่อแพที่มีส่วนผสมเป็นสารประกอบละลายน้ำยากในรูปแบบ โซลิดดิสเพอร์ชัน (Raft forming drug delivery stystems incorporating solid dispersion of poorly water-soluble compounds) สูตรก่อแพที่มีส่วนผสมเป็นเคอคูมินในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน และ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเตรียมโดยใช้สูตรดังกล่าว” โดยมี บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์คอสเมติค จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับอนุญาต ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.ฤดีกร วิวัฒนปฐพี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์หลัก

2. “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดโปรตีนจากน้ำเลี้ยงเชื้อ Lactobacilus rhamnosus และ

Lactobacillus casei ในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวฟันดีผสมโปรไบโอติกส์เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี ป้องกันฟันผุ” โดยมี บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้รับอนุญาต ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์หลัก ​

3. “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดโปรตีนจากน้ำเลี้ยงเชื้อ Lactabacilus rhamnosus และ

Lactobacillus casei ในผลิตภัณฑ์กลุ่ม Skincare ที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว ต้านการอักเสบและอนุมูลอิสระ” โดยมี บริษัท พาริช สกิน จำกัด เป็นผู้รับอนุญาต ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์หลัก ​

4. “ผลิตภัณฑ์แผ่นเข็มขนาดไมครอนแบบสลายตัวได้และกรรมวิธีผลิตผลิตภัณฑ์” โดยมี บริษัท อี ซี เน็กส์ จำกัด เป็นผู้รับอนุญาต ซึ่งมี คุณจุลินทิพย์ พุทธวงษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์ และมี ผศ.นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสักขีพยาน  

5. “ชุดทดสอบเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมและกรรมวิธีในการเตรียมชุดทดสอบ” โดยมี บริษัท มาสเตอร์ แล็บส์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้รับอนุญาต ซึ่งมี ผศ.ดร.อภิชัย พลชัย คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้ประดิษฐ์หลัก และมี ผศ.ดร. กิติพล นวลทอง รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและสหกิจศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสักขีพยาน  

6. “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดขมิ้นชันที่มีสารเคอร์คูมินอยด์ในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์สซันด้วยโพไว

นิลไพโรลิโดน เค 30  และ เรื่องกรรมวิธีการเตรียมสารสกัดแอลฟา-แมงโกสตินจากเปลือกผลมังคุด” โดยมี บริษัท ทรี ซิมเปิ้ล จำกัด เป็นผู้รับอนุญาต ซึ่งมี รศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้ประดิษฐ์หลัก​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ​​​​​

📌นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ด้วยการเปิดเวทีให้นักวิจัยได้ Pitching นำเสนอผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกิจกรรม Business Matching กับผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยได้รับความสนใจจากนักวิจัยและภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก


Share: